เทศกาลสงกรานต์ ๒๕๕๖
โฆษกตร.ปฏิเสธข้อห้ามเล่นสงกรานต์ 11 ข้อ ชี้เล่นน้ำได้ตามปกติ แต่อย่าเกินเลย
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกตร. เปิดเผยถึงกรณีโซเซียลเน็ตเวิร์คปรากฎเนื้อหาระบุข้อห้ามในการเล่นน้ำสงกรานต์ 11 ข้อออกโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีข้อห้ามในการเล่นสงกรานต์ตามที่ปรากฏในโซเซียลเน็ตเวิร์ค โดยเนื้อหาดังกล่าวทางตร.ไม่ได้เป็นผู้จัดทำแต่อย่างไร ประชาชนยังสามารถเล่นน้ำ นั่งหลังรถกระบะ ขายแป้ง และใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่กรณีที่มีการเล่นน้ำจนเกินเลยหรือกระทำการที่สุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดอันตราย เช่น จำหน่ายสุราให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ เปิดเครื่องเสียงส่งเสียงดังในเขตชุมชนรบกวนชาวบ้าน หากได้รับแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนกรณีกฎหมายห้ามดื่มสุราบนรถทั้งคนขับและผู้โดยสาร เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงจะวางแนวทางปฏิบัติในการจับกุม หากพบว่ากำลังดื่มสุราบนรถก็ต้องดำเนินคดี แต่หากผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารที่อยู่บนรถมีอาการมึนเมาจากการดื่มสุราโดยตรวจไม่พบสุราบนรถเจ้าหน้าที่อาจให้หยุดพักรถจนกว่าอาการดีขึ้นจึงปล่อยกลับบ้านโดยไม่มีการจับกุม หรือผู้ที่อยู่ในอาการมึนเมาสามารถกลับรถแท็กซี่ได้ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ได้สั่งการมาตรการป้องกันอาชญากรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยให้บช.น. ภ.1– 9 ศชต. และ ก. จัดทำแผนระดมกวาดล้างอาชญากรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยพิจารณาตามความเหมาะสมกับพื้นที่และสถานการณ์มากที่สุด รวมถึงกวดขันเอาผิดในเรื่องการห้ามจำหน่ายและห้ามดื่มสุราในสถานที่ ช่วงเวลา และบุคคลที่ห้ามจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พร้อมทั้งกวดขันสถานบริการให้ดำเนินกิจการตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะสถานบันเทิงที่จัดให้มีการเต้นหน้าร้านเพื่อเชิญชวนให้ผู้ที่สัญจรไปมาเข้าร้าน และกวดขันจับกุมการแข่งรถในทางสาธารณะ กลุ่มบุคคลหรือวัยรุ่นมั่วสุมที่มีพฤติการณ์เป็นนักเลงอันธพาลเป็นภัยต่อสังคม โดยต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่กระทำความผิดในทุกกรณี
“ส่วนที่มีข้อความระบุว่าตำรวจห้ามขึ้นรถกระบะเล่นน้ำนั้น ยืนยันว่าประชาชนสามารถขึ้นรถกระบะเล่นน้ำได้ตามปกติ แต่ต้องไม่เป็นการยืนในลักษณะที่หวาดเสียว อันตราย หรือเข้าไปในเขตหวงห้าม ขณะที่การเปิดเครื่องเสียงก็สามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่เป็นการรบกวน หรือ สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น ขณะที่การกวดขันเรื่องการสวมหมวกกันน็อกก็ยังต้องมีอยู่ เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กล่าวคือทุกคนสามารถเล่นสงกรานต์ได้ตามปกติ แต่หากมีการกระทำที่อาจจะก่อให้เกิดอันตราย หรือฝ่าฝืนประเพณีที่ดีงาม หากมีผู้มาแจ้งความตำรวจก็ต้องดำเนินการ"โฆษก.ตร. กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น